Home » My Blog » Production Design is...

Production Design is...

Posted 11 April 2014

ตอนที่ 1 History นักศึกษาภาพยนตร์ หรือคนรักหนัง ( movie - lovers) คงคุ้นเคยกับการนั่งมองรายชื่อผู้อยู่เบื้องหลังการผลิตภาพยนตร์ ซึ่งจะปรากฏขึ้นเมื่อภาพยนตร์ฉายจบ ชื่อตำแหน่งต่างๆ เหล่านั้นบอกให้เรารู้ว่ากว่าที่ภาพยนตร์หนึ่งเรื่องจะสำเร็จออกมาได้ต้องอาศัยทีมงานหลายฝ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุด เฉพาะฝ่ายศิลป์ (Art department) เองก็มีชื่อตำแหน่งที่ชวนสับสนและสงสัยในหน้าที่อยู่มากมาย บทความนี้จึงเขียนขึ้นเพื่อกล่าวถึงความเป็นมาของชื่อตำแหน่งในฝ่ายศิลป์ เน้นที่ตำแหน่ง Art Director และ Production Designer รวมถึงบทบาทของเขาในภาพยนตร์โดยหวังว่าจะช่วยไขข้อข้องใจ และมีประโยชน์ต่อผู้สนใจได้บ้าง Art Director / Scenic Designer / Production Designer : Who are they? What do they do? ผู้กำกับศิลป์ / ผู้ออกแบบฉากภาพยนตร์ / ผู้ออกแบบงานสร้าง : คนไหนทำอะไรในภาพยนตร์ ต้นศตวรรษที่ 20 อุตสาหกรรมภาพยนตร์เริ่มเติบโตขึ้นเป็นสื่อตัวใหม่โดยเฉพาะทางฝั่งอเมริกา บุคลากรจากวงการละคร (Theatre) ไม่ว่าจะเป็นคนเขียนบท นักแสดง ผู้จัดการเวที เปรียบเสมือนมรดกจากวงการละครสู่ภาพยนตร์ รวมถึงเหล่านักออกแบบ (Designers) และศิลปินในสาขาต่างๆ ก็ได้นำทักษะทางด้านศิลปกรรมเข้ามาทำงานในวงการภาพยนตร์ด้วย งานฉากภาพยนตร์ในช่วงแรก เราจะเห็นการวาดภาพบนผนังฉากหลัง (Back drop) อาทิเช่นรูปท้องฟ้า หรือรูปเมืองยามค่ำคืน เช่นเดียวกับงานฉากเวทีละคร การทำฉากภายในห้อง (room Interior) ซึ่งถูกสร้างขึ้นด้วยผนังปลอม (Fake wall) หรือเรียกโดยศัพท์เฉพาะว่า แผง (Flat)นั้น ศิลปินหรือช่างฉากในโรงละครได้สร้างกันมาอย่างช่ำชองเป็นเวลานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นห้องทำงานสไตล์ Art Deco ที่ทันสมัยในยุคนั้น ไปจนถึงคฤหาสน์หรูหราสไตล์โกธิคที่มีรายละเอียดกระทั่งเปลวไฟในเตาผิงอยู่ในฉาก ฝีมือของช่างฝีมือจากวงการละครเวทีเหล่านี้ปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในผลงานภาพยนตร์ยุคทองของสตูดิโอในอเมริกาช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20

 

รูปที่ 1 The Classic Charles D.Hall fireplace and the paneled window, this time augmented by Gothic vaulting.( Bride of Frankenstein) : Setting the Scene The Great Hollywood Art Directors.

รูปที่ 2 Walter Huston in Dodsworth ( 1936,William Wyler ).: Designing Dreams

Modern Architecture in the Movies.

โดยองค์ความรู้ที่สั่งสมกันมารุ่นต่อรุ่น รวมถึงการเรียนการสอนวิชาการละครในสถาบันการศึกษา จึงทำให้มีช่างศิลป์ และ ผู้ออกแบบฉาก (Scenic Designer) ผู้รับผิดชอบสูงสุดในฝ่ายศิลปกรรมของงานละครเวที มากเพียงพอที่จะถ่ายเทเข้าสู่วงการภาพยนตร์ ด้วยขบวนการผลิตภาพยนตร์ซึ่งมีลักษณะการทำงานที่เป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ทำให้เกิดระบบสตูดิโอขึ้นหลายแห่งเพื่อรองรับ MGM STUDIO หนึ่งในสตูดิโอขนาดใหญ่เปิดขึ้นโดยมีผลงานตามมานับร้อยเรื่อง และที่สตูดิโอแห่งนี้เอง Cedric Gibbons คือบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับด้วยผลงานกว่า 40 ปีของเขาว่า เขาคือ ผู้กำกับศิลป์ (Art Director) ผู้มีฝีมือยอดเยี่ยมแห่งยุค Cedric Gibbons มีพื้นฐานการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ เขาเป็นผู้พัฒนางานออกแบบใน MGM STUDIO ในช่วงเวลาที่โลกกำลังเข้าสู่ยุค Modern Art ในฐานะผู้บริหารทีมงานฝ่ายศิลป์เขาและทีมงานได้สร้างผลงานออกแบบ ได้แก่ฉากที่วิจิตรตระการตา ทั้งฉากภาพยนตร์ ย้อนยุค ( Period film set ) ไปจนถึงฉากภาพยนตร์ในอนาคต ( Futuristic film set) จากไนท์คลับสุดหรูสู่ดาดฟ้าเรือสำราญเดินสมุทร ผลงานของ Cedric Gibbons รวมทั้ง Art Directors สำคัญๆในยุคนั้น เกิดจากการนำความรู้ใหม่ (สถาปัตยกรรม) ผนวกกับความรู้เดิม (งานออกแบบฉากละคร) ทีมงานประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในหลายๆ ด้าน จากแผนกร่างภาพ, แผนกสร้างแบบจำลอง ไปจนถึงแผนกช่าง การทำงานที่เป็นขั้นตอนนี้คือการบริหารงานในระบบอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง (รูปประกอบ 3) จากเดิมการสร้างฉากเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์เกิดขึ้นเฉพาะในโรงถ่ายเท่านั้น แต่ในยุคนั้นสตูดิโอหลายแห่งทางตอนใต้ได้ย้ายออกมาสร้างฉากกันกลางแจ้ง ผนวกกับความเป็นไปได้จากการพัฒนาอุปกรณ์ กล้องและไฟมีขนาดเล็กลงพอที่จะเคลื่อนย้ายได้สะดวกขึ้น อากาศไม่หนาวหรือมีหิมะที่เป็นอุปสรรคย่อมเอื้ออำนวยต่อการทำงานนอกสถานที่ ฉะนั้น ฉากดวลปืนของนายอำเภอในเมืองคาวบอย ปราสาทหินยุคกลางบนเนินเขา และอีกหลายเรื่องราวในภาพยนตร์จึงถูกสร้างฉากขึ้นโดยไม่จำกัดอยู่ในโกดังสี่เหลี่ยมอีกต่อไป

รูปที่ 3 MGM art department,c. 1940: emulating the factory work ethic./ Cedric Gibbons,the aesthetic tastemaker of MGM.: Setting the Scene The Great Hollywood Art Directors.

การค้นพบรูปแบบและวิธีการใหม่ๆ อันน่าตื่นเต้นในวงการสถาปัตยกรรม และวิศวกรรมก่อสร้าง พร้อมๆ กับการเรียนรู้และกล้าทดลองของบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ผลงานภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นในยุคนั้นจึงถือได้ว่าเป็นต้นแบบของศาสตร์แห่งการออกแบบงานสร้างภาพยนตร์พัฒนามาจนถึงยุคปัจจุบัน


(รูปประกอบ 4)


(รูปประกอบ 5)

ขณะที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอเมริกาอยู่ในยุคสตูดิโอรุ่งเรือง (1940) และผู้กำกับศิลป์เก่งๆ หลายคนก็เลือกที่จะไม่สังกัดอยู่กับสตูดิโอใหญ่แห่งใด ผู้กำกับศิลป์อิสระซึ่งมีชื่อเสียงมากคนหนึ่งคือ William Cameron Menzies เป็นคนวาดภาพประกอบในหนังสือเด็กมาก่อน เพียงผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกเขาก็ได้รับการยอมรับในฝีมือ นั่นคือภาพยนตร์ Silent epic เรื่อง “Thief of Begdad” ด้วยความชำนาญด้านการวาดภาพ วิธีการทำงานของ Menzies คือ เขาจะร่างภาพเพื่อแสดงจินตนาการของเขา รวมทั้งวาด story board ขึ้นสำหรับเล่าเรื่องในแต่ละฉาก ภาพวาดของเขาเหล่านี้เป็นสิ่งกำหนดตำแหน่งตัวแสดง (actor placement) ตำแหน่งกล้อง (camera location) เป็นแนวทางในการกำหนดเลนส์ของกล้อง กล่าวได้ว่าการทำงานของ Menzies เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้กำกับ ช่างภาพ ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย รวมถึงทีมงานอื่นๆ ในกองถ่ายด้วย ผลงานเรื่องเยี่ยมอีกเรื่องหนึ่งของ Menzies คือ “Gone with the wind” ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการเตรียมงานสร้างกันมาอย่างยาวนาน ผ่านมือผู้กำกับหลายต่อหลายคน พร้อมๆ กับการคัดเลือกผู้แสดงนำฝ่ายหญิงเพื่อรับบทบาท Scarlet O’ hara ซึ่งในขณะนั้น Menzies ก็ได้เริ่มงานของเขาโดยยังไม่มีผู้กำกับ บทภาพยนตร์ยังไม่มีการสรุปที่ชัดเจน เขาทำงานโดยจินตนาการจากตัวหนังสือในนวนิยายแต่ละหน้า เขาเริ่มวาดภาพหลักๆ (Key Visual) ขึ้นมาหลายภาพ รวมถึงฉากเมืองแอตแลนตาถูกเผาซึ่งถ่ายทำขึ้นเป็นฉากแรกตามภาพร่างของเขา โดย Scarlet O’ Hara นางเอกของเรื่องปรากฏตัวในฉากนี้ในลักษณะเงามืด (silhouette) ขณะที่ยังไม่ได้ตัวแสดงนำที่แท้จริง รูปที่ 4 Robin Hood,the castlecompleted.Note the small orchestra in the foreground entertaining the cast and crew.: Setting the Scene The Great Hollywood Art Directors. รูปที่ 5 Stagecoach (1939) Wiard Ihnen’s representation of the roots of American society:the frontier town.: Setting the Scene The Great Hollywood Art Directors.


(รูปประกอบ 6)


(รูปประกอบ 7)


(รูปประกอบ 8)


(รูปประกอบ 9)

ผลจากความทุ่มเทในการทำงานและความสำคัญของผลงานของเขาต่อการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เอง David O. Selznick ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้จึงแต่งตั้งตำแหน่งใหม่ให้แก่ Menzies ว่า Production Designer และมีการเรียกใช้กันต่อมานับแต่นั้น ปัจจุบันตำแหน่งผู้กำกับศิลป์ (Art Director) ใช้กันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นงานมิวสิควิดีโอ ภาพยนตร์โฆษณา รวมไปถึงงานในส่วนของ T.V. Production ด้วย ตำแหน่งผู้ออกแบบงานสร้าง (Production Designer) จึงปรากฏอยู่เฉพาะใน Feature Film หรือภาพยนตร์บันเทิงเท่านั้น ด้วยระบบอุตสาหกรรมภาพยนตร์ซึ่งมีขนาดใหญ่ ตำแหน่งนี้ คือตำแหน่งสูงสุดของแผนกศิลปกรรม เป็นผู้ควบคุมแนวทางกำกับศิลป์ (Art Direction) ของภาพยนตร์ ถ้าภาพยนตร์เรื่องนั้นมีงานสร้างที่ใหญ่โต ผู้ออกแบบงานสร้างก็อาจมีผู้กำกับศิลป์มาช่วยได้หลายคนโดยขึ้นอยู่กับความถนัดของผู้กำกับศิลป์แต่ละคน รูปที่ 6 The Thief of Bagdad (1924) designed by William Cameron Menzies.: Hollywood Legend and Reality. รูปที่ 7 The Thief of Bagdad is one of the greatest glories of Hollywood art direction.: Hollywood Legend and Reality. รูปที่ 8 William Cameron Menzies is Hollywood’s foremost production designer.:Forties Screen Style. รูปที่ 9 Gone with the Wind,A water sketch by Joseph McMillan Johnson.: Setting the Scene The Great Hollywood Art Directors.

นอกจากตำแหน่งผู้กำกับศิลป์ (Art Director) และผู้ออกแบบงานสร้าง (Production Designer) แล้ว ในภาพยนตร์บางเรื่องยังมีการเรียกขานตำแหน่งหน้าที่ในฝ่ายศิลป์แตกต่างกันออกไปอีก เช่น Futurist Conceptual Designer ซึ่งภาพยนตร์ Sci-fi อมตะ Blade Runner ได้ให้เครดิตเอาไว้ Conceptual Designer, Visual Consultant ส่วน Artistic Director เป็นเครดิต Art Director ที่ผู้เขียนได้พบอีกหลายครั้งจากกองถ่ายฝั่งยุโรป (ฝรั่งเศส) ทั้งนี้เครดิตเหล่านี้ไม่ได้ใช้อย่างสากลแพร่หลายเท่า 2 คำแรก ผู้ออกแบบงานสร้างในวงการภาพยนตร์ล้วนมีพื้นฐานการศึกษาการทำงานในลักษณะที่หลากหลายมาก่อน อาทิเช่น Richard Sylbert (Cotton Club, Red, Dick Tracy) มีพื้นฐานเป็นช่างวาดรูปมาก่อน, Patrizia Van Brandenstein มีชื่อเสียงมากจากการเป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย (Costume Designer) , Stuart Craig (The Elephant Man, Gandhi, The English Patient, Notting Hill , etc.) มีความมุ่งมั่นตั้งใจตั้งแต่เรียนว่าเขาจะทำงานในสายนี้ และเข้าเรียนในสาขานี้โดยตรง เขามีผลงานเป็นที่ยอมรับมากมายและหลากหลาย รวมถึงการออกแบบงานสร้างภาพยนตร์เรื่อง Harry Potter ด้วย ถ้าสนใจเกี่ยวกับงานของผู้ออกแบบงานสร้างภาพยนตร์ ขอแนะนำหนังสือชื่อ “Production design & Art direction Screencraft” ซึ่งได้รวบรวมผลงานสำคัญของผู้ออกแบบงานสร้างที่มีชื่อเสียงในทศวรรษที่ผ่านมา หาได้ตามร้านขายหนังสือต่างประเทศของบ้านเรา ความสับสนอาจเกิดขึ้นได้เพียงเพราะคำว่า “ผู้ออกแบบงานสร้าง” ฟังดูคล้ายผู้ทำงานในวงการก่อสร้างมากกว่าที่จะเป็นผู้ทำงานเกี่ยวกับศิลปะในภาพยนตร์ แต่จริงแล้วจะเรียกขานกันอย่างไรก็ไม่สำคัญเท่าผู้ออกแบบงานสร้างมีหน้าที่อะไรในภาพยนตร์บ้างในตอนหน้าจะขอเล่าถึงบทบาทของผู้ออกแบบงานสร้าง(Production Designer) ในการสร้างแนวทางกำกับศิลป์ (Art Direction) ให้กับภาพยนตร์