Home » My Blog » ย้อนรอย มนต์รักทรานซิสเตอร์ ตอน 7+8

ย้อนรอย มนต์รักทรานซิสเตอร์ ตอน 7+8

Posted 29 December 2017

ตอนที่ 7 

ได้เวลาพาเข้ากรุงเทพกันแล้วครับ 
ในภาพยนตร์ “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ส่วนที่ตัวละคอนแผน,สะเดา ได้เข้ามาผจญชีวิตอยู่ช่วงหนึ่ง ถ้าบ้านนอกคือ “สวรรค์บ้านนา” อย่างที่เราพูดกัน 
กรุงเทพน่าจะเป็นสถานที่ที่ตัวละคอนเช่น แผนและสะเดา ไม่ควรจะเข้ามาเลย อีกนัยยะหนึ่งที่ผมใช้นึกและพูดอยู่เสมอ นั่นคือ “กรุงเทพ” ในหนังเรื่องนี้จะเป็นฝั่งผู้ร้าย, กรุงเทพจะเป็นฉากหลังที่พระเอกและนางเอก ต้องมา ตกระกำลำบากในเมืองกรุง 
บางทีในบทประพันธ์เดิมก็ได้สร้างนัยยะนี้มาตั้งแต่ต้น เมื่อนำมาเป็นบทภาพยนตร์ก็มิได้ผิดเพี้ยนไป เรื่องเริ่มต้นขึ้นที่บ้านนอก, มาผจญในเมืองหลวงและกลับคืนบ้านนอกของตนในตอนจบ แบ่งภาพใหญ่ใหญ่ก็จะได้ฉากรวมของภาพยนตร์ (sceneries) ออกเป็นสองส่วน; บ้านนอกกับเมืองหลวง

โจทย์ที่ผมตั้งมาตั้งแต่ต้นว่าจะหาองค์ประกอบทางศิลปะมาแยกสองส่วนนี้ออก ให้แต่ละส่วนมีโทนของภาพที่มีความน่าสนใจให้ได้ทั้งคู่ 
ในส่วนของต่างจังหวัด อย่างที่เขียนถึงมาหลายตอน เราเลือกวิธีที่จะใช้ ”สี” มาสร้างความน่าสนใจ
สี ( Colour ) ที่เราใช้ได้แก่ สีสรรของเสื้อผ้า ( wardrobes) มาสร้างชุดสีที่สนุกสนานได้ สีเหล่านั้นจะอยู่บนสีของธรรมชาติเช่น สีเขียว, สีนํ้าตาล สีจากวัสดุ ( Color Pigments ) นอกจากนั้นตัวภาพยนตร์เองมีซีนที่เปิดโอกาสให้ สามารถนำเรื่องสีมาเล่นได้อีกเช่น ฉากงานแต่งงาน, ฉากงานวัด, ฉากหลังเวทีคอนเสิร์ท Sceneries เหล่านี้เปิดโอกาสในการตกแต่งด้วยสีได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

ในส่วนของกรุงเทพ การคุมชุดสี จะมีความยากมากขึ้นเพราะระนาบหลังอาจทำไม่ได้ต่อเนื่องได้เท่าในภาคต่างจังหวัด ( จากทุ่งนา, แม่นํ้า, บ้านสีฟ้า, บ้านสีเนื้อไม้, และสีนํ้าตาลจากทัศนียภาพรอบรอบ) เพราะทัศนียภาพของกรุงเทพจะเป็นอาคารสิ่งก่อสร้าง, ถนน เสียมากกว่าไม่มีสีสรรมากนัก
อาคารสมัยใหม่ที่มีอยู่ตามตึกแถว, อาคารพาณิชย์ ส่วนใหญ่จะมีสีขาวถึงสีอ่อนอ่อน อันเป็นสีที่ไม่น่าสนใจใน Color Scheme ของภาพยนตร์เรื่องนี้

ผมมีทางออกที่คิดไว้อยู่สองสามอย่างในเวลานั้น กล่าวคือ 1)มองหาสถานที่ถ่ายทำในกรุงเทพ ในส่วนที่มี พื้นผิว ( textures ) ที่น่าสนใจ เพื่อมาแทนค่านํ้าหนักสีที่อาจจะหายไปมีไม่เท่าส่วนของต่างจังหวัด , 
2) มองหาสถานที่ที่ภายในยังมีโทนสีนํ้าตาลห่อหุ้มอยู่ และ 3) มองหาสถานที่ที่มี การวาง lay out หรือ pattern ที่ต่างโทนไปจากภาพที่ได้จากต่างจังหวัดไปเลย 
ตัวอย่างที่จะยกมาเล่าได้แก่ ฉากสำนักงานวงดนตรีลูกทุ่งของเสี่ยสุวัตร, ภายในบ้านเสี่ยสุวัตร + สถานที่ฝึกร้องเพลงในโรงสนุ๊กเกอร์ และ ฉากวิ่งราว และหนีตำรวจ ของแผน กันครับ

1) ฉากสำนักงานวงดนตรีลูกทุ่งของเสี่ยสุวัตร

เป็นไปตามที่คาดตอนที่ผมไปถึงซอยบุปผาสวรรค์ย่านฝั่งธน จากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลพบว่าถ้า เจ้าภาพคนไหนมีต้องการวงดนตรีลูกทุ่ง ไปเล่นตามงาน จะมาหาวงดนตรีได้ที่นี่ ผมได้ไปทำการ survey และพบว่าวงดนตรีลูกทุ่งทั้งหลายเปิดรับงานอยู่กันตามตึกแถว หลายห้องตลอดตามแนวซอย ภายในห้องก็ดูเรียบง่าย ส่วนมากแล้วปิด โปสเตอร์วงดนตรีลูกทุ่งของตน ตามข้างฝาผนัง มีโต๊ะรับงานง่ายง่ายอยู่หนึ่งชุดเป็นอย่างนี้เหมือนกันไปหมดแทบจะทุกวงดนตรี, ทุกห้องแถว
ผมพบว่าสถานที่แบบนี้มันดูไม่น่าสนใจเลย และก็ไม่สอดคล้องกับ Concept Design ที่วางไว้, 
ส่วนตัวแล้วผมมีความสนใจอยู่กับสถาปัตยกรรมของโรงหนังสแตนด์อโลน
มาเป็นมาเป็นเวลานานแล้ว โรงหนังสแตนด์อโลนในช่วงที่เราเตรียมงานภาพยนตร์เรื่องนี้ เริ่มปิดไปหลายแห่งแล้ว (ซึ่งในเวลาต่อมาก็แทบจะปิดไปทั้งหมด) การออกแบบสถาปัตยกรรม และการออกแบบภายในของโรงหนังสแตนด์อโลนในยุคแรกแรกมีความน่าสนใจ มีประวัติศาสตร์แต่ละที่แตกต่างและ และมีสวยงามแตกต่างกัน หลังจากพบปัญหาว่าสถานที่ที่เป็น สำนักงานวงดนตรีลูกทุ่ง ไม่ควรใช้ที่สถานที่จริง ผมเลยมีความคิดว่าน่าจะเนรมิตสำนักงานวงดนตรีในภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักทรานซิสเตอร์ โดยใช้รูปแบบที่ประยุกต์เข้าไปกับงานออกแบบโรงหนังสแตนด์อโลนในยุคนั้น ในที่สุดผมและผู้จัดหาสถานที่เพื่อการถ่ายทำก็ได้ค้นพบโรงหนังสแตนด์อโลน แถวศรีย่านที่ปิดตัวลงไปได้แก่ โรงหนังจันทิมา 
ผมพบว่าบริเวณด้านหน้าที่แต่เดิมเป็นบริเวณล็อบบี้และที่ขายตั๋วของ โรงภาพยนตร์มีขนาดพอเหมาะสมที่เราจะออกแบบให้เป็นออฟฟิศของเสียสุวัตร เจ้าของวงดนตรีลูกทุ่งตามเรื่องได้ 
การออกแบบ Set Design โดยปรับใช้กับสถานที่จริง มีประโยชน์มากในแง่ของการประหยัดค่าใช้จ่าย ประกอบกับสถานที่ที่เราเลือกนั้นนั้นมีการออกแบบภายใน ที่ผ่านกระบวนการการคิดตั้งต้นมาอยู่แล้ว มีลูกเล่น,มีพื้นผิว ที่น่าสนใจเข้ากับแนวความคิด Art Direction ที่กำหนดไว้แต่แรก มีส่วนของโมเสสประดับลวดลาย มีเฟอร์นิเจอร์ มีผนังไม้ที่วางตัวกันเป็นแพตเทิร์นสวยงาม พื้นและเพดานยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ สิ่งที่ทำต่อเติมก็เพียงแต่กรุกำแพงด้านหน้า ให้มีความทึบมากขึ้นกว่าแต่เดิมซึ่งเป็นช่องแสงตลอดแนว เสริมด้วยการกั้นห้องส่วนตัวของเสียสุวัตรเข้าไปเพียงเท่านั้น ฉากสำนักงานวงดนตรีลูกทุ่งของเสียสุวัตร ก็เป็นอันเสร็จใช้งานถ่ายทำได้

ฉากย่อยอื่นอื่นที่ประกอบตามท้องเรื่อง ได้แก่ ที่ที่แผนซุกหัวนอนกับลุงเฝ้าตึก, ห้องแต่งหน้าของดาว , ห้องเก็บลังเครื่องใช้ของพวกหางเครื่อง ล้วนดัดแปลง ตกแต่งอยู่ในอาคารโรงหนังร้างทั้งหมด
ในส่วนฉากสำนักงานวงดนตรีนี้ พื้นผิว textures และ pattern ได้เข้ามามีส่วนให้ภาพเกิดองค์ประกอบทางศิลป์ เพิ่มเข้ามาสอดคล้องกับ Concept Design ที่วางไว้

2) ฉากสถานที่ซ้อมของหางเครื่องและนักร้อง

ฉากสำคัญอีกฉากหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญเติบโตก้าวหน้าของนักร้องหน้าใหม่ที่ชื่อ”ดาว” ที่ได้รับการสนับสนุนให้ขึ้นเป็นนักร้องหน้าใหม่ในทันทีในขณะที่แผนเอง กลับต้องทำงานโดยการใช้แรงงาน, ขนของ, ถูพื้น
เฉกเช่นคนรับใช้ หรือเด็กยกเครื่องนั่นเอง ฉากดราม่าฉากนี้ เราพบโรงสนุกเกอร์แห่งหนึ่งที่อยู่ติดกับโรงหนังร้างจันทิมา เป็นเจ้าของเดียวกับโรงภาพยนตร์ที่ปิดไป เราค้นพบว่าสเปซภายในโรงสนุ้กมีระยะความลึกที่ดี มีองค์ประกอบสำคัญได้แก่พื้นไม้ ในที่นี้จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ (ในฉากที่แผนต้องถูพื้นโรงสนุกเกอร์) เป็นอะไรที่เราได้มาโดยไม่ได้วางแผนเอาไว้ อย่างไรก็ดีด้วยโทนสีของสถานที่และความน่าสนใจจากตัวสถานที่เอง ที่ถึงแม้จะเป็นโรงสนุกเกอร์ก็ไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับบท ทั้งผู้ชมอาจจะอนุมานได้ว่าเป็นอีกธุรกิจ หนึ่งของเสียสุวัตร 
มีส่วนเพิ่มเติมขยายฟังอีกนิดอีกนิดหนึ่งเวลาที่พูดถึงระยะความลึกที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทำภาพยนตร์ ถ้ามีโอกาสได้ชมซีนที่แผนถูพื้นและมองเห็นดาวกำลังซ้อมเพลงอยู่ร่วมในเฟรมเดียวกัน การจัดองค์ประกอบของนักแสดงทั้งสองคนในระยะที่แตกต่างกันโดยห่างจากเลนส์กล้อง แต่ในแง่ของการจัดองค์ประกอบภาพ (Frame Composition) สามารถร่วมเฟรมกันได้เพราะมีระยะที่ห่างพอที่จะวางตัวละคอนได้ จะเป็นตัวอย่างที่ดีที่ อธิบายความสำคัญของสถานที่ถ่ายทำที่มีความจำเป็น ที่ควรจะมีด้านลึกเอาไว้เป็นสำคัญ

ฉากบ้านของเสี่ยสุวัตร
นี่เป็นอีกฉากหนึ่งซึ่งผู้ชมจะจำกันได้มากที่สุดคือตอนที่แผนถูกค้นพบว่าเป็นนักร้องชั้นยอดอีกคนหนึ่งและทำให้เสียสุวัตร มีความปลาบปลื้มใจเขาพาแผนมาที่บ้านและหวังจะเคลมเอาเสียเอง
เราได้บ้านในยุค 1960 หลังหนึ่งแถวประดิภัทร์ ,สะพานควาย สิ่งที่ผมสนใจในงานสถาปัตยกรรมในยุคนี้ก็คือการประยุกต์ ใช้ไม้กับปูนผสมผสานกัน มีการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ built-in ไปตามผนัง มีการทำหน้าต่างเจาะช่องแสงผ่านจากการเขียนแบบ สัดส่วนเหล่านี้เมื่อวางตัวเป็นฉากหลังจะมี pattern ที่สวยงาม เราได้สีของเนื้อไม้จากบ้านหลังนี้และ pattern ที่มาในยุคนี้ทำให้ตัว Art Direction ของฉากในฝั่งกรุงเทพมีความน่าสนใจตามที่คิดเอาไว้

นี่เป็นตัวอย่างข้อหนึ่งและสองที่ยกมาเล่าให้ฟัง เห็นทีต้องยกตัวอย่างอื่นไว้ตอนหน้าแล้วครับ เพราะมันจะยาวหน้า feed เกินไปมาก (ทั้งยังมีซีนย่อยอีกสองสามซีนที่น่าพูดถึง)

เบื้องหลังภาพยนตร์มนต์รักทรานซิสเตอร์ จบตอนหน้าแน่นอนครับ คาดว่าจบในปีนี้แน่นอน มีวันหยุดรออยู่ข้างหน้า ขอบคุณที่ติดตามอ่านกัน

 

สำนักงานวงดนตรีลูกทุ่ง ซอยบุปผาสวรรค์

 

สภาพโรงหนังจันทิมา ศรีย่าน, Location ที่เลือกมาเป็นสำนักงานวงดนตรีของเสี่ยสุวัตร

 

ภายใน lobby มีช่องแสงตลอดแนว/ ภายในเฟอร์นิเจอร์ของบริเวณที่ขายตั๋ว ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์

 

ภาพกว้าง ภายในเฟอร์นิเจอร์ของบริเวณที่ขายตั๋ว ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์

 

ฉากที่สร้างเพื่อพรางช่องกระจกเดิมของโรงหนัง (ด้านนอก)

 

ฉากที่สร้างเพื่อพรางช่องกระจกเดิมของโรงหนัง (ด้านใน)

 

โรงสนุกเกอร์ ที่ยังเปิดบริการอยู่ในเวลานั้น

 

ภาพนิ่งจากภาพยนตร์ /พูดเรื่องสีของพื้นไม้ที่เข้ากับ colour scheme

 

ภาพนิ่งจากภาพยนตร์ ให้สังเกตุความลึกของสถานที่

 

rough sketch ห้องแต่งหน้าของดาว

 

rough sketch ที่ซุกหัวนอนของแผน

 

location บ้านเสี่ยสุวัตร

 

ภายในบ้านยุค early modern, 1960 มี scheme สีเนื้อไม้อย่างที่ต้องการ บ้านจริงจะขนาดใหญ่ไปหน่อย แต่สามารถถ่ายทำให้ดูเล็กลงมาง่ายกว่า มีระยะลึกที่ดีด้วย จากโซนรับแขก ต่อกับบริเวณที่ถ่ายรูปแผน

 

ตอนที่ 8

งานสร้างในส่วนกรุงเทพ (ต่อ)

3. เราเลือกสถานที่ต่างต่างในกรุงเทพโดยเน้นสถานที่ที่มีผนังหรือรูปด้านที่มีพื้นผิว, มี pattern บนผนังที่น่าสนใจ, textures & pattern เหล่านี้จะช่วยสร้างนํ้าหนักให้กับฉากหลัง ตัวอย่างเช่น ที่ที่แผนกับเสี่ยว มาซุกหัวนอนที่มุมตึกแห่งหนึ่ง เราเลือกอาคารที่กรุกระเบื้องผนังภายนอก 
(สมัยนี้ส่วนใหญ่จะทาสีภายนอกลงบนปูนเลย ซึ่งมันดูไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไหร่) ที่ตรงนั้นคือด้านหลังของอาคารศูนย์การค้าเมโทร ประตูนํ้า มีคนพ่นคำว่า “ที่หมาเยี้ยว” ไว้ที่กำแพง อันนั้นมีคนเขาพ่นไว้ก่อนแล้ว ทีมงานเราไม่ได้พ่นนะครับ

ในปีที่เราถ่ายทำ โรงรับจำนำยังเป็นสถานที่พึ่งของคนที่ขัดสนเงินสด,ที่ที่เราจะพบอยู่ทั่วไปในกรุงเทพ โรงรับจำนำที่เราเลือกนอกจากจะได้ห้องหัวมุมถนนที่สวยงามแล้ว ตัวตึกเองออกแบบได้สวยงาม เค้าประดับกระเบื้องติดฝาผนังสีโทนส้มซึ่งไม่ได้เห็นกันง่ายนักในปัจจุบัน เป็นโลเคชั่นที่เราได้สีสันขึ้นมาในภาพยนตร์สมใจ โดยไม่ต้องทำอะไรเลย
แพตเทิร์นกระเบื้องที่ปิดอยู่ที่โรงจำนำก็มีความคล้ายคลึงกับแนวกระเบื้อง
ในโลเคชั่นหลังศูนย์การค้าเมโทร (การประดับกระเบื้องแบบนี้จะพบได้น้อยในตึกสมัยใหม่ เนื่องจากต้นทุนการผลิตการสร้างตึกก็จะสูงขึ้น) พวกแพตเทิร์นต่างๆเหล่านี้เองเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง Art Direction ให้กับงานส่วนของกรุงเทพ

อีกฉากหนึ่งที่น่าสนใจคือฉากแผนวิ่งราวกระชากสร้อย ในเวลานั้นสะพานลอย
รอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้สร้างเสร็จแล้ว ผมคิดว่ามันเหมาะมากที่จะถ่ายซีนนี้ ที่นี่ ผมคิดว่ามันน่าสนใจกว่าการที่เราจะถ่ายทำซีนนี้กันบนท้องถนนธรรมดา
สะพานลอยรอบอนุสาวรีย์โดยปกติแล้วมีความคึกคัก ผู้คนเดินกันขวักไขว่จึงสมเหตุผลให้แผนและเสี่ยว คิดอ่านที่จะทำการวิ่งราวลักทรัพย์ขึ้นที่นี่ ต่อจากนั้นเราก็จะมีซีนมอนทาจ แผนวิ่งหนีตำรวจอีกหลายซีน หนึ่งในโลเคชั่นที่อยากบันทึกไว้เป็นหน้าประวัติศาตร์ของกรุงเทพ คือบริเวณด้านใต้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิ้ง ส่วนที่ต่อเชื่อมจากสถานี BTS.พญาไท ในเวลาที่เราถ่ายทำตัวสถานีแอร์พอร์ตลิงค์ยังสร้างไม่เสร็จ แต่เริ่มมีการเคลียร์พื้นที่กันไปบ้างแล้ว เราให้แผนวิ่งหนีตำรวจโดยวางรางดอลลี่ไปบนรางรถไฟแล้วถ่ายขนานไปกับแนวฟุตบาทที่เจ้า “แผน” วิ่งหนีตำรวจด้วยความเร็ว, ต่อจากนั้นเราก็จะพาแผน เข้าไปในซอยที่มีความแออัดในพื้นที่ช่วงระหว่างศรีย่านกับราชวัติ ซึ่ง ณ ตอนนั้น ยังมีชุมชนเก่าที่เป็นบ้านไม้สองชั้นรวมตัวกันอยู่เป็นชุมชนและทำให้เกิดตรอกซอกซอยเล็กๆ โลเคชั่นแห่งนี้มีขนาดซอย (sizing) มีพื้นผิวตามผนัง (texture) ที่มีความน่าสนใจกับภาพที่เราถ่ายทำ ทำให้ภาพที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ มีน้ำหนักอย่างที่เราวางแผนไว้

ฉากสำคัญอีกฉากหนึ่งในกรุงเทพคือฉากปาร์ตี้คนรวยเป็นฉากที่สะท้อนและเสียดสีคนรวยได้อย่างเจ็บแสบ เป็นอีกฉากหนึ่งที่ผมมีความสนใจเป็นอย่างมากที่อยากจะออกแบบให้มี texture หนักหนัก, ถ้ายังจำกันได้ถึงตอนเก่าเก่าที่ได้เล่าให้ฟังว่าเราต้องใช้งบประมาณหลายส่วนไปในงานสร้างส่วนต่างจังหวัด ซึ่งในเวลาที่ตัดสินใจนั้น ผมรู้ดีว่าในที่สุดมันจะมากระทบถึงงบประมาณที่เราต้องใช้ในฝั่งกรุงเทพ แล้วก็เป็นจริงตามนั้น เนื่องจากเราถ่ายฝั่งกรุงเทพทีหลัง งบประมาณที่ใช้ไปตอนต้น ทำให้ภาพในจินตนาการของผมที่ต้องการอยากจะสื่อกับงานปาร์ตี้คนจน นี้มีงบประมาณที่จำกัด เกินกว่าที่จะทำอะไรได้มาก ทำให้ไม่สามารถออกแบบฉากบนเวทีให้ได้ตามดังที่คิด และนี่ก็คือชีวิตความเป็นจริงของคนทำหนังไทย ที่งบประมาณมันจำกัดเกินไปสำหรับความฝัน และจินตนาการของพวกเรา แต่เป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับและทำออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่เรามีงบในเวลานั้น

บ่อขี้ แปลงผัก ถนนศรีนครินทร์
อีกฉากหนึ่งตอนที่แผนอยู่ในคุก ต้องทำงานเฉกเช่นคนคุกต้องมาตักนํ้าในบ่อขี้เพื่อไปรดแปลงผัก ในตอนแรกผมมีความคิดว่าจะไปหาแปลงผักจริงๆในคุกซึ่งเป็นความคิดที่ทำงานจริงไม่ได้เลย, ต่อมาก็มีความคิดว่าจะหากำแพงสูงสูงเพื่อหลอกว่าเป็นกำแพงคุกแล้ว ไปสร้างและปลูกแปลงผักขึ้นมาซึ่งก็ยังเป็นความคิดที่ใช้ไม่ได้อีก เนื่องจากการหาพื้นที่แบบนี้เอาเข้าจริงก็ไม่ได้หาได้ง่ายง่าย, ในที่สุด…สิ่งที่ง่ายที่สุดก็คือการไปหาแปลงผักที่มีอยู่แล้วที่มีขนาดใหญ่หน่อย เบื้องต้นกะว่าอาจะทำเทคนิคสร้างกำแพงคุกขึ้นมาไกลไกล ( ซึ่งในที่สุดก็ไม่จำเป็นเลย) ในเวลานั้นแถบถนนศรีนครินทร์ยังเป็นชนบทอยู่มากแล้วก็มีแปลงผักปลูกอยู่จริงๆ ดังภาพที่เราเห็นในภาพยนตร์การเซ็ตฉากเพียงแต่มีตัวประกอบที่เป็นผู้คุมและนักโทษที่ทำงาน ในแปลงผักเพียงเท่านั้นก็สื่อสารให้เชื่อว่าเป็นฉากที่เกิดขึ้นภายในบริเวณคุก
ส่วนตัวบ่อขี้ ที่แผนต้องตกลงไป เป็นฉากที่ไม่ใหญ่แต่ก็ต้องสร้างให้ดีเพื่อกันน้ำไม่ให้รั่ว ตัวมูลอุจจาระที่เห็นในภาพยนตร์สร้างสรรค์โดยแผนกศิลปกรรม โดยใช้หลักการเดียวกันกับที่เราทำ ขนมข้าวเม่า ของที่ใช้กินเล่นนั่นแหละครับทำไว้เป็นก้อนก้อนแล้วก็ตากเอาไว้เป็นจำนวนมาก ก่อนถ่ายทำก็เทลงไปในบ่อผสมสีสันเพียงแค่นั้นก็ดูสมจริงมาก เสียจนทีมงานและนักแสดงเผลอเอามือปิดจมูก ตอนจะถ่ายทำ ทั้งที่จริงๆแล้วมันคือกลิ่นอาหารดีดีนี่เอง จะเป็นเกร็ดเล็กๆในน้อยที่สนุกสนานกันดีตอนถ่ายทำในภาพยนตร์ ซีนแผนตกลงไปในบ่อขี้ มีนัยยะเสียดสี,สะท้อนชะตากรรมของ”แผน” ตัวแสดงนำ ได้เป็นอย่างดี

แผนออกจากคุก
( **ตอนแรกวางแผนจะถ่ายในกรุงเทพ สุดท้ายต้องแวะออกไปเก็บซีนนี้ที่อยุธยา)
เก็บปลีกย่อยอีกนิดหน่อยครับ ซีนแผนออกจากคุก เมื่อเราถ่ายทำส่วนของกรุงเทพ เราจำเป็นต้องถ่ายจากแผนออกจากคุก หลังจากที่ไปดูคุกจริงๆมาสองสามที่ อาทิเช่น เรือนจำบางขวาง ก็พบว่าเราไม่ได้ความรู้สึกทางภาพที่จะสื่อออกมา เหมือนเวลาเราดูซีนแบบนี้ จากภาพยนตร์ต่างประเทศ บริเวณประตูหน้าคุกของเมืองไทยจะค่อนข้างรก มีสิ่งต่างๆมากมาย รวมทั้งแม่ค้าพ่อค้า แผงลอย รถยนต์จอดไม่เป็นระเบียบ มันดูไม่สวยงามเอาเลย เรามีข้อมูลเกี่ยวกับคุกนี้ที่จังหวัดอยุธยาตอนช่วงแรกๆที่เราไปทำงานที่อยุธยา ว่ามีคุกร้างอยู่สภาพกำแพงโดยรอบยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ คุกที่เราใช้เราต้องการเพียงแต่กำแพงด้านนอก เท่านั้นเอง แต่อีกนั่นแหละครับประตูด้านหน้าของคุกที่นี่ ก็ไม่มีพื้นที่ให้ถ่ายทำให้ได้ตาม concept เช่นเคย ภาพที่แสดงอยู่นี้เราทำการหลอกด้วยการเซ็ตกำแพงทำเป็นห้องเล็กเล็กขึ้นมาด้านข้างของกำแพงคุกจริงแปะ เข้ากับกำแพงของเค้าดื้อดื้อเลย ทำสีและผิวให้ต่อเชื่อมกับกำแพงเดิม และให้แผนเดินออกมาจากประตูเล็กที่เราสร้างขึ้นมา มีตัวประกอบเป็นผู้คุมยืนที่ประตูคนหนึ่ง ก็สามารถถ่ายทำซีนได้แล้ว ระยะภาพ, การตั้งกล้องกับแนวกำแพงมีความสวยงามมี cinematic value, ดูภาพเคลียร์ง่ายง่าย สื่ออารมณ์ความโดดเดี่ยว ไม่มีที่ที่จะไปต่อของแผน แนวถนนที่โล่งโล่ง กับแดดที่ร้อนยามบ่าย 
เราสามารถเก็บอารมณ์ของภาพแบบนั้นได้ในที่สุด ผมชอบการแสดงของ “ แผน“ ตอนที่เดินออกมาจากรั้วกำแพงคุกเขาหยีตาเมื่อต้องเจอกับแสงแดดภายนอกเป็นการแสดงที่ละเอียดและสื่อความหมายที่ดี เขาเดินขากะเพลกมาสักพัก แผนจึงพบว่าเจ้าเสี่ยวมาดักรอเขาเพื่อจะชักชวนแผนให้ไปทำงานด้วยกับเขา เราเลยมีความจำเป็นต้องสร้างเพิงเล็กๆขึ้นมาที่โลเคชั่น ข้างข้างคุกนี่เองเพื่อให้ทั้งคู่มีที่นั่งคุยกัน (ไม่มีรูป) และมีระยะที่เหมาะสมที่จะมองเห็น “ดาว” ที่นั่งรออยู่ในรถปิกอัพของเสี่ยว ที่จอดไปในระยะที่ไม่ไกลมากนัก ซีนง่ายง่ายเพื่อส่งต่อไปตอนท้ายที่ทรงพลังดราม่า เพื่อส่ง แผนให้คิดถึงบ้านในตอนจบ

เก็บมาจนครบหมดแล้วครับจบในตอนที่แปด เบื้องหลังการออกแบบงานสร้างของมนต์รักทรานซิสเตอร์ หวังว่าวันหนึ่งข้างหน้าเมื่อมีคนได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ และมีโอกาสได้เห็นบทความนี้จะได้เห็นภาพย่อย่อของคนทำภาพยนตร์กลุ่มหนึ่ง
ที่ได้ออกแบบงานสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมา ขอบคุณอีกครั้งสำหรับผู้ติดตามอ่านมาจนถึงตอนสุดท้ายครับ

 

location ที่ซุกหัวนอนของแผนและเสี่ยว ทำให้แผนคิดถึงบ้านนอก ความแข็งของเส้นสาย texture ของสถานที่ตรงกันข้ามกับโลกต่างจังหวัดของแผน

 

location หลังศูนย์การค้าเมโทร ประตูนํ้า

 

วางแค่ถังขยะเท่านั้น

 

location โรงรับจำนำ ตำแหน่งหัวมุมตึกที่เหมาะแก่การถ่ายทำ,เลือกที่สไตล์, สี, ลายบนผนัง

 

location โรงรับจำนำ

 

location แผน วิ่งราวบนสะพานลอย

 

location แผน วิ่งราว,ลู่วิ่งลอยฟ้าที่น่าสนใจ

 

บริเวณใต้ airport link สถานีพญาไท

 

ซอยที่แผนวิ่งหนีตำรวจ เลือกซอยในชุมชนที่แคบ มีสีและ ผิวของผนังที่น่าสนใจ

 

sketch ลายเส้นคร่าวคร่าว เพื่อหาไอเดีย งานแฟนซีคนจน แต่ทำไม่ได้มากนักจากงบประมาณ

 

sketch ลายเส้นคร่าวคร่าว เพื่อหาไอเดีย งานแฟนซีคนจน

 

location ที่แปลงผัก แถบถนนศรีนครินทร์, ในเวลานั้นยังไม่เจริญเท่าทุกวันนี้ เราเพียงเลี่ยงการมองเห็นตึกในกรุงเทพเท่านั้น แถบนั้นยังไม่มีตึกสูงมากให้เห็นในเฟรม

 

บ่อขี้ที่เราขุดสร้างลงในแปลงผัก สิ่งปฎิกูลพวกนี้ทำมาจากวัตถุธรรมชาติ และไม่มีกลิ่นเหม็นอะไร แต่ด้วย magic touch ของการทำสี มันได้ความรู้สึกเหม็นขึ้นมาจริงจริง

 

locatiom ด้านข้างคุกที่อยุธยา, สร้างทางออกเล็กเล็กเพื่อทำประตูออกด้านข้าง ให้แผนออกจากคุก

 

 

เราได้ซีนที่เหงาเหงา และโดดเดี่ยวของแผน

 

( **เพิ่มจากบทความ ) location ที่ที่รถขนงานไปตัดอ้อย จอดอยู่ด้านหน้า เลือกร้านที่มี นํ้าหนัก texture & pattern ที่น่าสนใจ

 

( **เพิ่มจากบทความ ) ฉากแผนหนีออกมาจากบ้านเสี่ยสุวัตร location แสดง perspective & texture ที่น่าสนใจ

 

 

( **เพิ่มจากบทความ ) ตกค้างภาพสุดท้ายครับ คุกนี่เราสร้างในโกดังเล็กเล็กแห่งหนึ่งใกล้ office ซีเนมาเซีย