Home » My Blog » ย้อนรอย มนต์รักทรานซิสเตอร์ ตอน 5+6

ย้อนรอย มนต์รักทรานซิสเตอร์ ตอน 5+6

Posted 19 December 2017

ตอนที่ 5

ห่างหายไปพักนึงครับ วันนี้ขอเล่าเรื่องต่อ
จากบทภาพยนตร์ที่เราต้องส่ง “แผน”ไปเป็นทหารเกณฑ์ จังหวัดกาญจนบุรีก็ผุดขึ้นมาในหัว อย่างที่พวกเรานักเรียนชายถ้าเรียน ร.ด. ก็ต้องเคยผ่านค่ายฝึกที่เขาชนไก่ จังหวัดกาญจนบุรี ที่นี่ในโทนรวมของเรื่องยังเป็นซีนต่างจังหวัดอยู่
แต่ต้องทำให้ความรู้สึกว่า “แผน” ได้เดินทางมาไกลจากบ้านของตน (หมู่บ้านบางนํ้าไหล) 
แต่ในการจัดการการถ่ายทำจริง ไม่ควรจะเดินทางไปในจังหวัดที่ไกลจริงจริง อาทิเช่นที่ อ.ปราณบุรี จว.ประจวบคีรีขันธ์ (ค่าใช้จ่ายสูงกว่า) 
เมืองกาญจนบุรีจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเรา

แล้วในที่สุดเราก็ได้ถ่ายทำในค่ายทหารที่เขาชนไก่จริงๆ 
ที่นี้เมื่อเราปักหมุดจะต้องมาจังหวัดกาญจนบุรีอยู่แล้ว นั่นคือที่มาของการมองหาพื้นที่โล่งโล่งเพื่อจัดงานวัดฉากเปิดเรื่อง (ตอนที่แล้ว) นอกจากนั้นสิ่งที่เราต้องทำเพิ่มอีก ก็คือการมองหาสถานที่ถ่ายทำซีนอื่นๆที่ดูเหมาะสมเข้ากับบทภาพยนตร์ 
สถานที่ถ่ายทำอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ คือฉากการทำไร่อ้อยของแผนกับเพื่อนใหม่ที่เจอกันระหว่างทาง, “ไอ้เสี่ยว” ยิ่งทำให้จังหวัดกาญจนบุรี, เมืองแห่งไร่อ้อยมีความสำคัญในการมาถ่ายทำที่นี่มากขึ้น

เซ็ตอัพในไร่อ้อย 
ส่วนใหญ่แล้วคือการหามุมของสถานที่ที่ดูสวยงามและสอดคล้องกับตัวบท
ฉากที่ไอ้เสี่ยว เพื่อนเจ้าแผนนั่งเล่นไพ่อยู่ก่อนที่จะโดนกระทืบ และเป็นเหตุให้พากันต้องเผ่นหนี ผมดัดแปลงเพิงไม้แห่งหนึ่งในป่าละเมาะที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่มาเพิ่มเติมขนาดให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม
เนื่องจากเราต้องมีนักแสดง รวมเข้าฉากอีกหกถึงเจ็ดคน ซึ่งก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร มีส่วนที่ต้องเกี่ยวข้องกับการแสดงอยู่นิดหน่อยคือตอนที่ ไอ้เสี่ยวโดนชกกระเด็นไปชนชั้นเก็บของและทำให้ถุงแป้งมันตกลงมา ฉากตรงบริเวณนั้นคือส่วนที่เราต่อเติมขึ้นมา เพื่อทำเทคนิคให้มันตกลงมาตามจังหวะที่เราควบคุมได้ แค่นั้นจริงๆ
โดยรวมรวมป่าโปร่งที่เราเลือกถ่ายทำถ่ายทำ ก็สามารถใช้ในซีนย่อยย่อยได้อีกหลายฉาก ยกตัวอย่างเช่นตอนที่แผนไปเจอศพตอนที่ไปหาที่หลบมุมเพื่อถ่ายอุจจาระในป่า, มุมที่วิ่งหนีกระสุน เป็นต้น

ที่เมืองกาญจนบุรียังไม่หมดแค่นี้ 
จุดตั้งต้นของมนต์รักทรานซิสเตอร์ เราต้องคำนึงถึงการทำเวทีคอนเสิร์ตวงดนตรีลูกทุ่งที่มีอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งจะต้องมีการจัดทำขึ้นสามครั้ง เริ่มต้นจากครั้งแรกที่แผนไปประกวดร้องเพลง จนได้รับการคัดเลือกและตัดสินใจหนีทหาร ครั้งที่สองคือตอนที่แผนต้องขึ้นไปร้องเพลงแทนและทำให้เสียสุวัฒน์ เห็นว่าเขามีนักร้องเด่นอยู่อีกคนนึงที่เขานึกไม่ถึง ครั้งที่สามคือตอนที่แผนไปเป็นนักร้องดังแล้วขึ้นร้องเพลงในงานคอนเสิร์ต, สะเดาได้ตามมาถึงกรุงเทพและได้ฟังแผนร้องเพลง
โจทย์ของการจัดงานคอนเสิร์ตทั้งสามครั้งทำให้ผมมีความคิดว่ารูปแบบของงานคอนเสิร์ตวงดนตรีลูกทุ่ง ในภาพยนตร์เรื่องนี้ น่าจะค่อยค่อยพัฒนาจากเวทีต่างจังหวัดสู่ เวทีคอนเสิร์ตในเมือง จากเวทีขนาดเล็กสู่เวทีขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเหมาะสมกับการจัดคิวถ่ายทำซึ่งขณะนั้น ที่ ต๊อก ศุภกร
ได้ตัดผมและเล่นบททหารเกณฑ์อยู่ที่นั่นอยู่แล้ว เราก็ควรจัดงานคอนเสิร์ตครั้งแรกในจังหวัดกาญจนบุรี นี่เลย 
อย่างไรก็ดี ผมอยากให้งานคอนเสิร์ตครั้งนี้มีโทนที่ต่างออกไปจาก โทนงานวัดตอนเปิดเรื่อง จึงเริ่มมองหาสถานที่ที่อยู่ในตัวเมือง แต่เน้นไปที่บริเวณที่เป็นบ้านเมืองเก่าซึ่งเป็นอาคารไม้สองชั้นแบบเดิมๆอยู่
โชคดีที่เราได้เจอที่อยู่แปลนหนึ่ง ที่เขาได้รื้ออาคารเก่าออกไปประมาณหนึ่งไร่ เป็นที่โล่งโล่งมีเศษปูนแตกแตกเกลื่อนอยู่ตามพื้น โดยรอบรอบยังได้แบ็คกราวนด์ของบ้านเรือนที่อยากได้อยู่ ในที่สุดเราก็ติดต่อขอเช่าสถานที่และจัดฉากงานคอนเสิร์ตครั้งแรกขึ้นที่นี่ มีเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งก็คือฉากที่แผนไปนั่งรวบรวมกำลังใจอยู่ในห้องส้วม ซึ่งคนที่ถ่ายทำภาพยนตร์จะทราบดีว่า การถ่ายทำในห้องน้ำจริงๆเป็นไปได้ยากมาก ในซีนนี้สำหรับเราง่ายมากที่เราจะสร้างฉากส้วมนี้ขึ้น ผมสร้างส้วมที่ผนังกรุด้วยสังกะสี แบบที่เค้าชอบสร้างขึ้นเวลามีงานชั่วคราว เราสร้างห้องส้วมแค่ห้องเดียวนะครับเพื่อถ่ายทำ ฉากแผนในชุดเสื้อยืดกางเกงทหารนั่งทำใจอยู่จนเพื่อนมาเรียก เราสร้างมันขึ้นบริเวณใกล้ใกล้กับจุดที่เราสร้างเวทีงานคอนเสิร์ตเป็นอันเรียบร้อยและถ่ายทำภายในเวลาคืนเดียวกัน
ฉากนั้นเป็นฉากกลางคืนอาจจะมองเห็นตัวเมืองไม่ถนัด แต่ฉากที่แผนส่งจดหมายหาสะเดาในซีนก่อนหน้านี้มันคือบริเวณที่เราใช้ถ่ายทำคอนเสิร์ตนั่นเอง
ฉากนั้นเป็นแค่ฉากสั้นสั้นที่ถ่ายทำตอนกลางวัน จะเห็นลักษณะบ้านเมืองชัดเจน
เราเพียงแต่สร้างกำแพงรั้วสังกะสีขึ้นมา เพราะเราชอบตู้จดหมายแบบเดิมเดิม ที่เป็นของประกอบฉากที่มีค่ามาก หาเองคงยาก เมื่อได้เจอของจริงก็เลยต้องถ่ายทำตรงจุดนั้น แต่ด้วยกลไกของบทที่ต้องทำให้”แผน”ได้เห็นโปสเตอร์การประกวดร้องเพลงไปพร้อมกัน
กำแพงสังกะสีนั้นจึงเป็นอีกเซ็ทอัพหนึ่งที่ช่วยให้การเล่าเรื่องของบทเสร็จสมบูรณ์ไปในซีนเดียวกัน

ไม่รู้เบื่อกันหรือยัง? จะพยายามรวบตอนสุดท้ายจังหวัดสุพรรณบุรีกับอ่างทอง (ซีนเดียว) ในตอนหน้า ถ้ามีคนอ่านก็จะพาเข้ากรุงเทพต่อเพื่อจบบันทึก “มนต์รักทรานซิสเตอร์”

 

แผน ในบททหารเกณฑ์ ห่างจากเมีย ถ่ายทำที่ จว.กาญจนบุรี

 

ตอนบล็อกช็อท จะแล้งมากแต่ตอนถ่ายทำมีฝนตกมาก่อนช่วงถ่ายทำ ทำให้เกิดคุ้งนํ้าตื้นตื้น ในบริเวณค่ายทหาร

 

location ไร่อ้อย มีมากเสียจนเลือกไม่ถูก

 

ภาพร่างเส้นต่อเติมจากเพิงไม้ที่มีอยู่ในป่าละเมาะ

 

ฉากสุดคลาสสิค ไอ้เสี่ยวชนะไพ่

 

มุมที่วิ่งหนีกระสุน ป่าโปร่งแถบเพิงที่พัก

 

Location ที่ใช้จัดงานประกวดร้องเพลง ในตัวเมืองกาญจนบุรี

 

ฉากส้วมที่สร้างใกล้กับเวทีคอนเสิร์ท

 

ตู้จดหมายแบบเดิมเดิมที่พบใน location

 

สร้างกำแพงรั้วสังกะสีขึ้นมาเพื่อปิดโปสเตอร์

 

ตอน 6

พาเข้าสู่จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ที่เติมความเป็นชุมชนบ้านบางนํ้าไหล ให้กับเราในจังหวัดสุดท้ายก่อนเคลื่อนกองถ่ายกลับเข้ากรุงเทพ
มีซีนสำคัญอยู่สองสามส่วนที่เรามองหาสถานที่ถ่ายทำที่เหมาะกับแผนการเดินทางของกองถ่าย และมีความแตกต่างจาก จว.อยุธยา (ที่เราวางแผนจะถ่ายทำฉากบ้านของสะเดาได้แล้ว) นั่นคือการมาถึงของพ่อค้าเรือเร่สุดหล่อ พร้อมด้วยการฉายหนังกลางแปลง ที่เขาได้มีโอกาสจีบสะเดา
อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อเราไปถึงในเวลานั้น อาคารไม้,ชุมชนริมแม่นํ้าท่าจีนที่ยังคงอยู่ในสภาพที่ดีมาก เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เราประทับใจในตัวสถานที่แห่งนี้
ในเวลาช่วงปี พศ. 2543 อาคารพาณิชย์แบบเรือนไม้ที่ปลูกเป็นแนวยาวคล้ายห้องแถวในปัจจุบัน ( แต่สร้างด้วยไม้) เริ่มมีการรื้อถอนไปมาก และถูกแทนที่ด้วยอาคารปูน บางที่ก็มีการมาสร้างผสมปะปนกัน ทำให้หลายสถานที่ที่เราไปไม่สามารถหาสถานที่ถ่ายทำที่ดำรงสภาพได้แบบที่นี่ (ในเวลานั้น) ฉากเรือเร่ ล่องเข้าสู่คุ้งนํ้า (นัยยะตาม storymap) คือการมาถึงปากแม่นํ้าก่อนที่เรือเร่จะล่องเข้าไปในคลองย่อยที่ผ่านหน้าบ้านสะเดา ที่นี่เราได้ภาพกว้างที่ได้การร่วมเฟรมกันของพ่อค้าหนุ่มจอมเจ้าชู้ กับ สาวชาวบ้าน, ก่อนที่เรือจะมุ่งหน้าไปทางขวาของเฟรม
อีกฉากคือการฉายหนังกลางแปลง ประโยชน์ของการได้สถานที่ถ่ายทำที่ดีเลิศ กล่าวคืออาคารไม้ที่วางตัวเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีอาคารไม้รองรับทั้งสี่ด้าน ทำให้การเซ็ตฉากฉากนี้ทำได้อย่างง่ายดาย ด้วยการวางจอฉายหนังไว้สุดด้านหนึ่งและเปิดที่โล่งตรงกลางให้คนดูและผู้ฉายหนังอยู่ตรงกลาง เราเพียงแต่เก็บของทันสมัยบางอย่างที่เตะตาอยู่ในเฟรมตามอาคารไม้ เช่นกันสาดยี่ห้อนํ้าอัดลมสีสดสด, พวกของพลาสติคสีสีออก และเติมพวกคนขายของถั่วต้ม,ยาดม, ของหาบเร่ตกแต่งฉากลงไป เพียงเท่านั้น
ที่อยากบันทึกไว้เป็น case study คือการที่เราต้องหาทางเอาเรือลำนี้ ที่หาได้แถบ สุพรรณบุรี เพื่อถ่ายทำฉากดังกล่าว แต่ซีนต่อเนื่องในเรื่องเราต้องเอาเรือลำนี้ไปถ่ายทำต่อที่คลองเจ้าเจ็ดให้ได้ ซึ่งในความเป็นจริงแม่นํ้าสายนี้ไม่ได้ต่อเชื่อมกับคลองที่จังหวัดอยุธยา ผมจำเส้นทางการเดินเรือจริงไม่ได้ แต่จำได้ว่าเจ้าของเรือต้องหาทางเดินเรืออ้อมไปเข้าแม่นํ้าอีกสายหนึ่งก่อนจะแล่นย้อนไปต้นแม่นํ้าเพื่อหาทางเลาะกลับมาเข้าคลองเจ้าเจ็ด อันเป็นที่ตั้งของบ้านสะเดา จำได้ว่าใช้เวลาถึง 2-3 วัน เพราะต้องแล่นย้อน และต้องรอเวลานํ้าขึ้นนํ้าลงเพื่อจะผ่านประตูนํ้าขนาดเล็ก เพื่อหาทางมาให้ถึงคลองเจ้าเจ็ดให้ได้
ซึ่งถ้าเรามองตามแผนที่รถวิ่งแล้วมันน่าสนใจมากที่สองจังหวัดนี้ไม่ได้อยู่ไกลกันเลย มาทางถนนเนี่ยสองสามชั่วโมงไปมาถึงกัน แต่นั่นแหละครับ เรือขนาดนี้ วิ่งมาทางนํ้าดูจะเป็นเรื่องน้อยสุด เพียงแต่เราต้องจัดตารางการถ่ายทำ รอเรือลำนี้มาถึงอยุธยา นั่นแหละครับ
เราสามารถเก็บซีนย่อยย่อยได้อีกสองสามซีน ได้แก่ งานคอนเสิร์ทครั้งที่สองที่แผน ได้ฉายแววศิลปิน จากการร้องแทน, เราจัดขึ้นในลานโล่งของวัดแห่งหนึ่งในสุพรรณบุรี ( จำชื่อวัดไม่ได้) มีรูปแสดงอยู่ กับฉากตอนต้นเรื่องที่แผนมาช่วยรับจ้างขุดดินให้พ่อสะเดา ( ก่อนงานแต่งงาน) 
มีติ่งท้ายฉากแผนกับเสี่ยวกระโดด ขึ้นรถไถนาบรรทุกของชาวบ้าน ฉากนั้นเป็นซีนย่อยย่อยที่เผอิญ ถนนเล็กเล็กเส้นนั้นเป็นถนนที่เงียบและมีนาข้าวข้างทาง อยู่ใกล้กับ location หลักระหว่างกาญจนบุรี กับสุพรรณบุรี เพียงแต่ตัวสถานที่ไปตกในเขตจังหวัดอ่างทอง
ทำให้โดยสรุปภาพยนตร์เรื่องมนต์รักทรานซิสเตอร์ นี้ ส่วนของต่างจังหวัดเราถ่ายทำกันทั้งสิ้นอยู่ สี่จังหวัด, อยุธยา, กาญจนบุรี, สุพรรณบุรี และ อ่างทอง

เกือบจบแล้วครับตอนหน้าว่าด้วยเรื่องกรุงเทพ เป็นตอนเมื่อแผนเข้ากรุงเทพครั้งแรก เพื่อมาทำงานในวงดนตรีลูกทุ่งของเสี่ยสุวัตร กับ ตอนท้ายที่หนีออกมาจากไร่อ้อยกับเจ้าเสี่ยว รอนแรมหมดตัวเข้ากรุงเทพ มีผจญภัยอยู่หลายที่ รวมทั้งฉากภายในคุกที่เราเซ็ทอัพขึ้นมา ภาคของกรุงเทพมีเรื่องที่น่าสนใจน่าเล่าอีกตอนครับ

 

อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ปากแม่นํ้าท่าจีน

 

ภาพ pre visualization ของฉากนี้

 

เรือลำเดียวกันที่ต้องหาทางนำมาเข้าคลองเจ้าเจ็ด ที่อยู่คนละจังหวัดให้ได้

ชุมชนตลาดอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

 

ภาพ pre visualization ของฉากนี้

 

ซีนที่ถ่ายทำ

 

ลานวัดในจังหวัสุพรรณบุรี

ภาพ pre visualization ของฉากคอนเสิร์ทครั้งที่สอง

 

ฉากเดียวที่ตกอยู่ในเขตจังหวัดอ่างทอง