ย้อนรอย มนต์รักทรานซิสเตอร์ ตอน 3+4
ตอนที่ 3
“บ้านสีฟ้า”ริมคลองเจ้าเจ็ด,อยุธยา การมีอยู่ของบ้านหลังนี้เป็นเสมือนมีคนได้สร้างไว้รอภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่บ่อยครั้งที่ location ตัวเลือกแรกจะชนะตัวเลือกอื่นอื่น หลังจากตระเวนดูบ้านลักษณะเดียวกันที่ติดริมนํ้า บ้านหลังนี้ "เป็นเอก" บอกว่ามันกวักมือเรียกเขาอยู่ เมื่อผู้กำกับปักใจชอบ งานก็เคลื่อนที่ได้ โดยรวมรวมถือว่าบ้านหลังนี้ตอบโจทย์ทีเดียว ลักษณะและสภาพของบ้าน ทำให้เราเชื่อและเห็นภูมิหลังตัวละคอนได้ดีทีเดียว
ครอบครัวสะเดา คือตัวแทนคนชนบทชั้นกลาง ไม่รวยแต่ไม่จน, ทำเกษตรกรรม มีชีวิตความเป็นอยู่ผูกพันกับแม่นํ้าลำคลอง
บ้านมีระเบียงที่ดูสวยจากวิวภายนอก, เปิดใต้ถุนโล่งแบบบ้านไม้ในภาคกลางบ้านเรา, มีส่วนที่เป็นห้องครัวแบบเดิมเดิม ( กลายมาเป็นฉากสวยสวยที่แผนมาเล่นปิดตาทายชื่อนักร้องกับสะเดา )
บ้านหลังนี้มีข้อดีอยู่มากก็จริง แต่ส่วนที่ผมกังวลมากที่สุดคือห้องนอนของนางเอกสะเดา ซึ่งไม่สามารถไปเบียดรวมอยู่ในบ้านเดิมได้เพราะขนาดบ้านเดิมเล็กอยู่แล้ว และไม่มีมุมมองที่จะปะทะกับแม่นํ้าได้ชัดเจน มุมที่ปะทะแบบติดกับลำคลองของบ้านหลังนี้คือตรงระเบียงด้านหน้าชั้นสองเท่านั้น ทางออกของผมในการแก้ปัญหาของ location นี้ก็คือการสร้างห้องของสะเดาต่อเชื่อมออกมาทางด้านข้างของบ้านเดิม เราโชคดีที่ด้านข้างบ้านด้านซ้ายยังมีบริเวณที่ว่างอยู่
การออกแบบต่อเติมครั้งนี้ทำให้เราสามารถรวบซีนทั้งหมดที่เกิดชึ้นที่นี่ได้สำเร็จใน location เดียวที่บ้านหลังนี้
และนี่ก็เป็นการตัดสินใจที่สำคัญมากจุดหนึ่งซึ่งหมายความว่าเราจะต้องแบ่งงบประมาณของแผนกศิลปกรรม ออกมาสร้างต่อเติมบ้านจริง และการใช้สอยบนฉากนี้ต้องมีความแข็งแรงพอที่จะให้กองถ่ายขึ้นมาทำงานบนห้องนี้ได้ ( มี scenes สำคัญเกิดขึ้นไม่น้อยกว่าสี่ถึงห้าครั้งในห้องสะเดา )
ฉากหนึ่งซึ่งมันออกมาดีมากคือตอนที่แผน กระโดดหลบลูกซองของพ่อสะเดาจากห้องสะเดา (ที่เราสร้างขึ้นมา) และกระโจนลงไปในคลอง และด้วยผัง lay out ที่เราทำออกมา การออกแบบซีนนี้จึงสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างตลกขบขันและแนบเนียน
ในมุมมองของผมถือว่าคุ้มค่าที่จะเฉือนงบออกมาทำ ผู้อ่านอาจจะนึกขนาดงบประมาณภาพยนตร์ไทยไม่ออก แต่การสร้างฉากที่ในที่สุด ใช้เงินแตะหลักแสน มันจะมีผลต่อการตัดสินใจของงบประมาณในซีนอื่นอื่นที่ตามมา
อย่างไรก็ดี นั่นคือการตัดสินใจร่วมกันซึ่งผมมองย้อนหลังว่าคุ้มค่ากับภาพยนตร์ ผมได้ต่อเดิมสะพานท่านํ้าที่ต้องใช้งานจริงได้รวมไปในช่างชุดเดียวกับที่เราสร้างห้องสะเดาขึ้นมา ( มี scene 4-5 ครั้งเช่นกันบนสะพานท่านํ้าที่สร้างขึ้นมานี้)
ในแง่มุมศิลปกรรมของภาพยนตร์มนต์รักทรานซิสเตอร์ บ้านสะเดาถือว่าเป็นฉาก (scenery) ที่สำคัญ ผมคิดว่าเมื่อสถานที่ (location) ที่ได้มามันใช่แล้ว ทุกอย่างที่มีอยู่ในสถานที่นั้นเราต้องให้ความเคารพและใคร่ครวญตรึกตรองให้ดีก่อนจะไปต่อเติม กล่าวคือผมจะไม่ไปทำการเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย หรือถ้าจะทำหรือต่อเติมอะไร จะต้องใช้ความระมัดระวัง มันจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากหาก”ผู้กำกับศิลป์” ไปปิดทับ, ลบ, กลบ หรือทำลายสิ่งที่สถานที่นั้นมีอยู่
“ความงามในสิ่งที่เป็นอยู่ “ เป็นหัวใจข้อหนึ่งในการทำงานในสถานที่จริง
เรายึดหลักตรงนี้ในการผสานสิ่งที่เราจำเป็นต้องเติมเข้าไป ( เพื่อรับใช้การเล่าเรื่องของบทภาพยนตร์) เมื่อสิ่งที่เราทำเสร็จ เราก็จะต้องหาทางผสานให้เก่าและใหม่กลายเป็นงานชิ้นเดียวกันให้ได้
หน้าที่หลักหรืออาจจะกล่าวว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของการทำฉากต่อเติม คือคนดูต้องจับความแปลกปลอมนั้นไม่ได้ งานฉากที่ดีจะเงียบสงบแฝงตัวกลมกลืนกับสิ่งที่ไปอาศัยเกาะอยู่
ตอนนี้ขอแค่นี้ก่อนนะครับ รูปดึงมาจาก post ปีที่แล้วที่ลงแต่รูปไว้แต่ไม่ได้เขียนเล่า ตอนนี้อาจจะลงลึกนิดนึงเรื่องศิลปกรรม คิดว่าน่าจะมีประโยชน์/ ลงแผนที่ที่แก้ไขใหม่แล้วละเอียดขึ้นพร้อมแสดงเส้นประให้เห็นว่าแท้จริงแล้วแต่ละส่วนถูกแยกไปถ่ายทำต่างจังหวัดกันหลายที่/ ตอนที่สี่จะหลุดไปที่งานวัด ที่เราถ่ายทำกันที่กาญจนบุรีครับ
ภาพบน นี่คือวิวแรกที่เราเห็น จากฝั่งตรงข้ามคลองเจ้าเจ็ดจะโดยความบังเอิญ หรือไม่ก็ตาม เป็นเอก บอกพวกเราว่า บ้านหลังนี้มีอะไรบางอย่างที่กวักมือเรียกผมอยู่ (สำนวนนะครับไม่ได้มีความหมายเป็นแบบผีผี )
ภาพบน โชคดีที่บ้านมี พท.ด้านซ้ายมือ ถ้ามองตามรูป ทำให้ผมสามารถสร้างฉาก ห้องสะเดา ได้
ภาพล่าง จะเห็นได้ว่าสะพานท่านํ้าของเดิม ไม่มีอยู่
ภาพบ้านจริงที่ยังไม่มีส่วนของห้องทางซ้ายมือ ที่เราต้องการให้เป็น ห้องนอนของ สะเดา
ภาพสีนํ้า pre visualization
สภาพตามความเป็นจริงของบ้าน คงจำฉากจบในเรื่องได้ไหมครับ สำหรับคนที่ชมแล้ว แผนและสะเดา นั่งคุยกันตรงนี้ที่ระเบียง( ภาพล่าง )
สมัยนั้น เขียนแบบด้วยมือ
สีฟ้า และ ระเบียงบ้าน นี่กระมัง ที่จับใจเรา เราไปหา location กันต่ออีกหลายหลัง ไม่มีหลังไหน ชนะใจเท่าหลังแรกที่เราเจอ
อุ้มซ้อมพายเรือ หน้าบ้านห้องซ้ายมือเพิ่งสร้างเสร็จ ยังไม่ได้ทำ scenic paint
นี่คือฉากที่เราสร้างขึ้นมา ห้องสะเดา, เราสร้างฉากนี่เพื่อให้แผน กระโดด ออกหน้าต่างเพื่อหนีลูกซองของ ตาเฉย พ่อของสะเดา,
และอีกมาก scenes ที่ทำงานได้ใน set ที่เราสร้างขึ้นมาเอง
ฉบับแก้ไข คุยกันต่อตอนสี่ครับ
ขอพาเข้าจังหวัดกาญจนบุรี, เชิดพงษ์ ผช.ผกก.1 บอกผมว่าเมืองกาญจน์ นี่แหละ Outdoor Studio ของเมืองไทย เมืองกาญจน์ มีป่าไม้, นํ้าตก, ลำธาร, เขื่อน, ภูเขา, เหมืองแร่ แค่นี้ก็น่าจะเห็นภาพว่ามาที่นี่ น่าจะมีสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ได้อย่างหลากหลาย อีกทั้งการเดินทางจาก กทม. มาที่เมืองกาญจน์ ใช้เวลาสั้นมาก กล่าวคือสามารถไปกลับภายในวันเดียวกันได้ถ้ามีความจำเป็น, ซึ่งในงานการผลิต เงื่อนไขแบบนี้เป็นสิ่งที่กองถ่ายคำนึงถึงเป็นอันดับต้นต้น ( Production Logistics ) ว่าคุ้มค่าในการเคลื่อนกองออกมาถ่ายทำหรือไม่
ในบทภาพยนตร์ เราต้องส่งตัวละคอน “แผน” ไปเป็นทหารเกณฑ์อยู่ซีเควนส์หนึ่ง การมองหาค่ายทหาร เป็นสถานที่ถ่ายทำจึงถูกคำนึงถึง, การที่เราเคยผ่านการฝึก ร.ด. มา ภาพเขาชนไก่ จึงผลุดออกมาแทบจะทันที ทั้งนี้ยังมีความลงตัวด้วยอีกประการหนึ่ง ด้วยบทภาพยนตร์มีตอนที่ ‘แผน’ หนีกลับมาซ่อนตัวในชนบท ในช่วงกลางค่อนไปทางท้ายของภาพยนตร์ (ประมาณองค์สอง, act 2) ไปรับจ้างตัดอ้อย ซึ่งเมืองกาญจน์เป็นแหล่งผลิตอ้อยสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ จึงเป็นความลงตัวอย่างมากที่เราจะมาถ่ายทำที่จังหวัดนี่
มันคลอบคลุมเบื้องต้นถึงสองซีเควนส์ สำคัญ
ตัดกลับมาที่ ฉากเปิดเรื่อง “งานวัด”, งาน Pre Production, ช่วงต้นที่เราทำงานภาพยนตร์เรื่องนี้ พวกเราไปเที่ยวงานวัดเพื่อหาข้อมูลภาคสนามกันบ่อยมาก สิ่งหนึ่งที่เราจับความรู้สึกได้อย่างหนึ่งคืองานวัดนั้น ต่อให้จัดที่วัด, ในบริเวณวัด, ข้างวัด หรือพื้นที่อื่นของวัด เราจะไม่ค่อยมีมุมมองที่จะเห็น สถาปัตยกรรมของวัด หรือตัววัดเท่าไหร่เลย พวกแสงสีที่เขาประเคนจัดตกแต่งกันในงานนี่แหละ ที่ทำให้ตาของเราจะ expose กับแสงไฟนีออน ดังนั้นตัววัดจึงไม่ค่อยอยู่ในสายตาเราเท่าไหร่ ประกอบกับไอเดียเรื่องมีสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านมาปะปนอยู่กับคนในฉากนี้ อันนี้เป็นไอเดียของผู้กำกับที่ทำให้ โลกของ มนต์รักทรานซิสเตอร์ จึงมีเสน่ห์ไปอีกแบบ ( แต่สร้างความปวดหัวตอนถ่ายทำไม่น้อย) พวกเราเลยมีความคิดว่า “งานวัด” ที่เป็นซีนเปิดเรื่องนี้ เราควรหาที่โล่งโล่ง เป็นลานดินกว้างกว้างแลัวเราไปจัดงานวัดขึ้นดีกว่าต้องไปจัดที่บริเวณวัดจริงจริง นั่นเป็นจุดเริ่มต้น
ดังนั้นในระหว่าง นั่งรถดู location ที่เมืองกาญจน์ เราจึงเพิ่มโจทย์ซีนนี้เข้าไปด้วย และเป็นดังที่คาดเราสามารถหา พื้นที่โล่งโล่งเป็นลานดินที่เขาถมไว้เส็จสรรพ กล่าวคือรถกองถ่ายสามารถวิ่งจากถนนใหญ่ เข้าถึงและจอดทำงานได้สบาย
มีคำถามอยู่เหมือนกันว่าซีนแบบนี้ เราน่าจะหา location ที่ใกล้กว่านี้จากกรุงเทพได้ไหม
คำตอบ เป็นไปได้เช่นกันแต่ทั้งนี้ในภาพรวมของการจัดการ เมื่อเราเคลื่อนกองถ่ายออกมาปักหลักที่ต่างจังหวัดแล้ว เราควรควบคุมการย้ายให้น้อยที่สุด
เพราะการย้ายกองถ่ายแต่ละครั้ง จะเกิดช่องว่างในปฎิทินการถ่ายทำเกิดขึ้น ภาษาอังกฤษคือ Day off , เจ้าพวก Day off นี่แหละมีผลต่องบประมาณ ( ขอข้ามไม่พูดในหลักการตรงนี้ )
ในตอนแรก ผมกังวลเรื่องการจัดฉากงานวัดอยู่เหมือนกับ ความที่เวลาเราไปในงานวัดจริงจริง มันมีสรรพสิ่งมากมายเหลือเกิน ในงบประมาณของหนังไทย ยังไงเราก็ไม่สามารถ ถมเงินลงไปจัดฉากแบบเต็มเหนี่ยวได้ หลังจากเตรียมงานสักพักและแผนการถ่ายทำเริ่มชัดเจนเกิดขึ้น ผมก็เริ่มมีความมั่นใจว่าเราน่าจะทำซีนนี้รอดได้ กล่าวคือ เหตุการณ์หลักในบท เกิดขึ้นที่ลานรำวงเป็นหลัก ไม่มีกระจายไปบริเวณส่วนอื่นของงานวัด ด้วยโจทย์ที่ออกมาเช่นนี้ ทำให้ผมสามารถวางลานรำวงไว้ตรงกลาง แล้วห้อมล้อมด้วย เหล่าเครื่องเล่นงานวัด กับ เวทีของวงดนตรีได้
ข้อสอง เมื่อเหตุการณ์กลายมาเป็นซีนกลางคืน เจ้าความมืด กับ แสงนีออน ที่เราจัดในงานนี่แหละ ที่อำพรางความไม่ใหญ่โตจริงของงานได้ ถ้าภาพยนตร์คือ illusion, ซีนกลางคืน บ่อยครั้งที่ช่วยเราจัดการกับ Space ได้ง่ายขึ้น กล่าวคือความมืดจะช่วยไม่ให้คนดูเห็นมากเกินไป
มีหนังสือเล่มหนึ่งเขียน concept ไว้ว่า “ คนดูจะสนใจสิ่งที่ปรากฏในเฟรมภาพเท่านั้น เขาจะไม่มีวันรับรู้สิ่งใดใดที่อยู่นอกเฟรมออกไป” ประเด็นในการจัดฉากจึงอยู่ที่ว่าเราจะจัดการอย่างไรให้สิ่งที่อยู่ในเฟรมนั้น ให้มีคุณค่ามากที่สุด
กล่าวมาถึงตอนนี้ ผมว่าฮีโร่ ของฉากนี้ของผมก็คือ เจ้าชิงช้าสวรรค์ นั่นแหละครับ
รูปทรงของชิงช้าสวรรค์ เป็นของประกอบฉากอย่างเดียวที่ช่วยให้ ส่วนบนของภาพ ( Upper part of frame ) มีองค์ประกอบของฉากวางอยู่ นีออนสีสี ที่เป็นส่วนหนึ่งของ Art Direction ในฉากนี้ ได้มีโอกาสต่อเชื่อมขึ้นไปตามก้านโครงของชิงช้าสวรรค์ ร้อยรวมกันเป็นแหล่งแสง, แหล่งสี ที่ทำให้ฉากนี้ดูใหญ่โตขึ้นในการรับรู้ของการชม แต่จริงจริงแล้ว เราเหมาเครื่องเล่นของงานวัดพวก ม้าหมุน,ซุ้มยิงปืน มาไม่เกิด เจ็ด ถึง แปด ชนิดเท่านั้น, ที่เหลือที่เป็นงานสร้างขึ้นมาคือ เวทีของวงกระเดือกทองคำ กับ ซุ้มเมียงู ( น่าเสียดายที่ได้ถ่ายทำไว้ แต่ไม่อยุ่ในหนัง)
เท่านี้เองที่ผมได้สร้างงานวัดขึ้นให้กับ “มนต์รักทรานซิสเตอร์”
เล่าถึงตรงนี้คงเห็นการขยายพื้นที่ถ่ายทำ ( location selected to be sceneries ) ออกจากจังหวัดแรกที่กล่าว "หมู่บ้านบางนํ้าไหล" ตามที่เขียนอยู่ในบทภาพยนตร์ เริ่มก่อร่างสร้างตนขึ้นมาแลัว
เรื่องซีนของเมืองกาญจน์ยังไม่จบ ขอต่ออีกตอนนะครับ
( มีต่อ )
ภาพเสก็ทช์คร่าวคร่าวเพื่อแสดงภาพงานวัด ที่จัดทำขึ้น
แสงนีออน และ ความมืดด้านหลัง
ชิงช้าสวรรค์ องค์ประกอบที่สำคัญ
คู่สีฟ้า มีส่วนไหลเลื่อนมาใช้กับการจัดฉาก ทั่วทั่วไป
เป็นเอก ระหว่างการกำกับการแสดง
ฉากนี้ออกแบบไว้เป็นฉากเปิดภาพยนตร์ แตถูก deleted ในห้องตัดต่อ